วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2561

โภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์


โภชนาการสำหรับหญิงตั้งครรภ์

C:\Users\room1301\Desktop\รูป.jpg

การตั้งครรภ์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน  ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทางกายวิภาค  ชีวเคมีและสรีรวิทยาหลายอย่างรวมทั้งมีการสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น  การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทำงานหนักขึ้น  เช่น  ระบบทางเดินอาหารมีการเพิ่มความสามารถในการดูดซึม  ระบบหมุนเวียนโลหิต  ระบบขับถ่าย  หัวใจทำงานหนักเพิ่มขึ้น  รวมทั้งระบบต่อมไร้ท่อมีการผลิตฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น  เป็นต้น
ดังนั้นลักษณะของอาหารที่ควรได้รับจะแตกต่างจากภาวะปกติที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ โภชนาการของหญิงก่อนตั้งครรภ์  ขณะตั้งครรภ์และหลังคลอดมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารก  เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ทารกเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุด  ทั้งร่างกายและสมอง  โดยอาศัยสารอาหารผ่านทางสายรกของแม่  เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และภาวะความผิดปกติของทารกได้ 
การดูแลสุขภาพและโภชนาการก่อนตั้งครรภ์
หญิงที่มีภาวะโภชนาการที่ดีก่อนการตั้งครรภ์  จะมีโรคภัยไข้เจ็บหรือภาวะแทรกซ้อนระหว่างมีครรภ์  และคลอดบุตรก่อนกำหนดน้อยกว่ามารดาที่มีภาวะโภชนาการที่ไม่ดีก่อนตั้งครรภ์  และลดอันตรายจากภาวะสุขภาพที่ไม่ดีที่อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์และทารกแรกคลอดได้ เนื่องจากมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อได้ดีจึงไม่ค่อยพบการเจ็บป่วย  ไม่ค่อยแพ้ท้องมากนัก  และทารกที่คลอดจะมีสุขภาพแข็งแรง  น้ำหนักแรกเกิดปกติ
สุขภาพของคุณแม่สามารถประเมินได้คร่าวๆจากค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI) โดยนำน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม)  หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง  (หน่วยเป็นเมตร)  เพื่อหาว่ามีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ใด จากการศึกษาพบว่า
  • ผู้หญิงที่สามารถให้กำเนิดทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงน้ำหนักแรกคลอดปกติค่าดัชนีมวลกายไม่ควรเกิน  23  (kg/m2) 
  • ผู้หญิงที่ค่าดัชนีมวลกายน้อยกว่า  19 (kg/m2)  จะส่งผลให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย (น้อยกว่า  2,500  กรัม)  ถึง  5  เท่า โดยเมื่อเริ่มตั้งครรภ์มักเป็นโรคครรภ์เป็นพิษ  (toxemia)  และเพิ่มภาวะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ภาวะโภชนาการที่น้อยกว่าปกติมีโอกาสที่จะมีบุตรยาก  ประจำเดือนมาไม่ปกติหรือขาดประจำเดือน  หรือทารกมีภาวะโลหิตจาง 
  • ผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า  25 (kg/m2)  ควรมีการลดน้ำหนักอย่างน้อย  3-4  เดือนก่อนวางแผนการตั้งครรภ์  เนื่องจากการลดน้ำหนักในระยะที่มีการปฏิสนธิทำให้ขาดสารอาหารและพลังงาน  ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้
ซึ่งมีงานวิจัยของไพรัตน์ (2541)  ที่พบว่า  ส่วนสูงของหญิงตั้งครรภ์  น้ำหนักของหญิงก่อนตั้งครรภ์  น้ำหนักตัวของหญิงก่อนคลอด  และน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นขณะตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวของทารกแรกเกิด  โดยหญิงตั้งครรภ์ที่สูงน้อยกว่า  150  เซนติเมตร  น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์น้อยกว่า  45  กิโลกรัม  น้ำหนักก่อนคลอดน้อยกว่า  55  กิโลกรัม  และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์น้อยกว่า  12  กิโลกรัม  มีแนวโน้มในการกำเนิดทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า  2,500  กรัม  ดังนั้นน้ำหนักตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้นได้ตามมาตรฐานตลอดการตั้งครรภ์  จะสะท้อนถึงการได้รับอาหารที่เพียงพอของหญิงตั้งครรภ์
การดูแลสุขภาพและโภชนาการระหว่างตั้งครรภ์
ส่วนในระหว่างตั้งครรภ์  ควรดูแลเอาใจใส่ในเรื่องอาหารและโภชนาการ  ให้ได้รับอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายหญิงตั้งครรภ์  ทารกที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะโภชนาการไม่ดีจะมีโอกาสป่วยมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ได้รับสารอาหารน้อยหรือมากเกินไป  อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้  เช่น 
  • หญิงตั้งครรภ์ได้รับพลังงานน้อยในช่วง  3  เดือนก่อนคลอดการพัฒนาตับอ่อนของทารกในครรภ์จะถูกยับยั้งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในระยะต่อมาได้
  • หญิงตั้งครรภ์ที่น้ำหนักตัวขึ้นน้อยมักส่งผลให้คลอดบุตรที่มีน้ำหนักตัวน้อย  หรือเกิดภาวะ Low Birth Weight; LBW  คือ  ทารกแรกเกิดที่คลอดออกมาแล้วมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า  2,500  กรัม และยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอด  ความผิดปกติด้านร่างกาย  การเจ็บป่วยและตายในช่วงแรกของชีวิตได้มากกว่าเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักปกติ
  • เด็กทารกแรกคลอดที่เกิดจากหญิงตั้งครรภ์ที่ขาดอาหารในระยะกลางและระยะหลังของการตั้งครรภ์  จะมีความสูงน้อยและผอมกว่าเด็กที่มารดาไม่ขาดอาหาร  และมีอุบัติการณ์ของความดันโลหิตสูง  โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจ  ไขมันในเลือดผิดปกติ  และโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้นในวัยผู้ใหญ่  ซึ่งส่งผลทำให้ร่างกายสลายโปรตีน  และแคลเซียมมากกว่าปกติ 
โดยเฉพาะช่วง  3  เดือนก่อนคลอด  เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีอัตราความเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดทั้งร่างกายและสมอง  ถือว่าเป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่งของทารกในครรภ์  ถ้าทารกในครรภ์ขาดสารอาหารในระยะนี้  จะทำให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตช้าลงทั้งทางร่างกายและสมอง  มีผลทำให้น้ำหนักแรกคลอดน้อยและส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์  ทำให้สมองมีจำนวนเซลล์สมองน้อยกว่าที่ควรเป็นและขนาดของสมองเล็กส่งผลต่อระดับสติปัญญาของทารก
อายุของมารดาเมื่อตั้งครรภ์ส่งผลต่อทารกในครรภ์
ระยะที่เหมาะสมของการตั้งครรภ์  คือ  ช่วงอายุระหว่าง  25-35  ปี 
การตั้งครรภ์เมื่ออายุน้อยหรือช่วงวัยรุ่นอายุ  15-19  ปี  (teenage pregnancy)
ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ยังไม่พร้อมในการตั้งครรภ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  มักพบความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์และทารกมีการเจริญเติบโตช้าในครรภ์คลอดก่อนกำหนด  และมีอัตราการเสียชีวิตของทารกสูง  เนื่องจากในหญิงวัยรุ่นยังมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกายไม่สมบูรณ์ทำให้มีการใช้พลังงานสูง  เมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจึงมีความต้องการพลังงานมากกว่าการตั้งครรภ์ของหญิงปกติ (Wildschut, 2006)  นอกจากนี้วัยรุ่นยังต้องปรับตนเองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมทั้งวัยรุ่นมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ดี  เช่น  กินตามแฟชั่นกลัวอ้วน  กลัวสังคมไม่ยอมรับจึงมักจะอดอาหารหรืองดอาหารบางมื้อ  ทำให้มีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารได้มากและส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ (รวีโรจน์, 2542)
การตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35  ปี  (elderly pregnancy) 
มักพบการเสียชีวิต  และการเกิดความพิการของทารกในอัตราที่สูงขึ้น  เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างเนื้อเยื่อให้ตนเองและทารกได้  โรคประจำตัวเรื้อรัง  เช่น  โรคความดันโลหิตสูง  เบาหวาน  เป็นต้น  รวมทั้งอัตราความเสี่ยงต่อการที่ทารกจะมีความผิดปกติทางระบบพันธุกรรมเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ทำให้ทารกที่เกิดมามีอาการปัญญาอ่อน  ซึ่งเกิดจากแม่ที่มีอายุมาก  การสร้างเซลล์สืบพันธ์หรือมีไข่ที่โครโมโซมขาดหรือเกิน  ซึ่งเกิดจากการไม่แยกกันของโครโมโซมระหว่างที่เซลล์แบ่งตัวสร้างไข่  โดยเฉพาะในมารดาที่อายุมากกว่า  40  ปีมักพบอาการกลุ่มดาวน์ซินโดรมในทารกสูงถึงร้อยละ  4.9  (อุ่นใน, 2549)  ดังนั้นถ้าต้องการตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์อย่างใกล้ชิด
    นอกจากนี้จากผลการรายงานขององค์การอนามัยโลก  ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ  56  ล้านคน  มีสาเหตุจากโรคเรื้อรังไม่ติดต่อถึงร้อยละ  66  และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ  73  ในปี  ค.ศ. 2020 ได้แก่
  • เบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคหลอดเลือดในสมอง
ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังเหล่านี้เริ่มตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์  และมีผลต่อเนื่องถึงวัยผุ้ใหญ่
  • เด็กทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยหรือขนาดตัวเล็กเมื่อแรกเกิด  ทั้งที่มีสาเหตุจากการเจริญเติบโตผิดปกติในครรภ์  หรือเกิดก่อนกำหนด  เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังและปัญหาสุขภาพเมื่อเป็นผู้ใหญ่ 
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก  เมื่อแรกเกิดเสี่ยงต่อโรคอ้วนและ  metabolic syndrome  ในวัยผู้ใหญ่เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าการเตรียมตัวทางด้านโภชนาการก่อนการตั้งครรภ์  ระหว่างตั้งครรภ์  รวมทั้งอายุของหญิงตั้งครรภ์จึงมีความสำคัญที่มีผลกระทบการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้  และจะส่งผลต่อพัฒนาการในแต่ละช่วงวัยจนตลอดอายุขัย
ปริมาณพลังงานและสารอาหารที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ
หญิงตั้งครรภ์ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา  เพื่อรับการตั้งครรภ์  และทารกในครรภ์ยังมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว  จึงทำให้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับสารอาหารและพลังงานเพิ่มมากขึ้น  ทั้งปริมาณและคุณภาพ  ดังนี้
ความต้องการพลังงานของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์
หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น  เพราะการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ขึ้นกับน้ำหนักของมารดาที่เพิ่มขึ้น  เพื่อนำไปใช้สำหรับการเจริญเติบโตของทารกและเนื้อเยื่อต่าง ๆ  ของแม่  ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์  ซึ่งการเพิ่มน้ำหนักของหญิงตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับระยะ
ของการตั้งครรภ์  โดยน้ำหนักตัวเฉลี่ยของหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวปกติจะเพิ่มขึ้นประมาณ  11.5-16  กิโลกรัม  ตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์
  • ในไตรมาสแรก  (1-3  เดือน)  หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาก  เนื่องจากยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียน  ในหญิงที่มีสุขภาพดีอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อยกว่า  2  กิโลกรัมก็เพียงพอ  ซึ่งได้จากการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานเพิ่มขึ้นวันละ  150-200  แคลอรี 
  • ในไตรมาสที่  2  (4-6  เดือน)  และไตรมาสที่  3  (7-9  เดือน)  การเพิ่มของน้ำหนักมารดามีความสำคัญ  เนื่องจากทารกในครรภ์เติบโตรวดเร็วมากในระยะนี้  ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายต้องทำงานเพิ่มขึ้น  จึงควรต้องเพิ่มพลังงานขึ้นเป็นวันละ  300  แคลอรี เพื่อให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น  1.4-1.8  กิโลกรัมในแต่ละเดือนจนถึงคลอด 
การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวหญิงตั้งครรภ์แต่ละคนจะไม่เท่ากัน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์ว่าอยู่ในเกณฑ์ใด  ซึ่งสามารถคำนวณได้จากค่าดัชนีมวลกาย (body mass index; BMI)  เพื่อหาว่ามีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ใด  ถ้าหญิงตั้งครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อย  ระหว่างตั้งครรภ์ควรเพิ่มน้ำหนักให้มากขึ้นกว่าปกติ  หรือถ้ามีน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์มาก  ควรเพิ่มน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป 
น้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์และน้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขึ้นเมื่อถึงวันครบกำหนดคลอด
น้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์
น้ำหนักตัวที่ควรเพิ่มขึ้น (กิโลกรัม)
น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ (BMI < 19.8)
น้ำหนักตัวปกติ (BMI =  19.8-25.9)
น้ำหนักตัวมากกว่าปกติ (BMI =  26-29)
ภาวะอ้วน (BMI > 29)
กรณีตั้งครรภ์แฝด
12.5-18
11.5-16
7-11.5
หรือมากกว่า
16-20
ที่มา:  Wardlaw and Smith, 2011
น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของหญิงตั้งครรภ์  กรณีตั้งครรภ์ทารกคนเดียว
ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น
น้ำหนัก (กิโลกรัม)
ทารก
เต้านมที่โตขึ้น
มดลูกที่โตขึ้น
รก
น้ำคร่ำ
ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้น
ปริมาณของเหลวที่เพิ่มขึ้น
ไขมันสะสมตามร่างกาย
3-3.5
0.5-1.4
1
0.5-1
1
1.4-1.8
1-1.4
2.7-3.5
ที่มา : สมเกียรติ, 2551
อาหารที่ให้พลังงานที่หญิงตั้งครรภ์ได้รับควรมาจาก  คาร์โบไฮเดรตจากข้าว  แป้ง  ธัญพืช  เผือก  มัน  โปรตีนจากเนื้อสัตว์  ปลา  ถั่วต่าง ๆ  ไขมันจากพืชและสัตว์  สำหรับวิตามินและเกลือแร่ได้จากการกินผักและผลไม้รวม  ซึ่งการใช้พลังงานของร่างกายสำหรับหญิงตั้งครรภ์  ควรใช้พลังงานจากการเผาผลาญกรดไขมันและกลูโคส  สำหรับโปรตีนไม่ควรนำมาเป็นแหล่งพลังงาน  แต่ควรใช้เพื่อการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ  เอนไซม์  และฮอร์โมน  เป็นต้น 
ความต้องการโปรตีนของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์
ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์มีความต้องการโปรตีนเพิ่มมากขึ้น  เพื่อช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของทั้งมารดาและทารก  ความต้องการโปรตีนจะสูงสุดในระยะไตรมาสสุดท้ายหรือ 3  เดือนก่อนคลอด  เซลล์สมองของทารกจะมีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว  ถ้ามารดาได้รับโปรตีนและแคลอรีไม่เพียงพอจะทำให้มีจำนวนเซลล์สมองน้อยและขนาดเล็ก  ซึ่งมีผลต่อสติปัญญาและการเรียนรู้ของเด็กในอนาคต
คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย  ได้แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์  กินอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ  25  กรัม  เนื่องจากโปรตีนประมาณ  1.5  กรัม  ต่อน้ำหนัก
ตัว  1  กิโลกรัม  และประมาณ  2  ใน  3  ของโปรตีนที่ได้รับควรเป็นโปรตีนจากสัตว์  เช่น  เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม  รวมทั้งถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้น
ความต้องการเกลือแร่
หญิงตั้งครรภ์มีความต้องการเกลือแร่ต่าง ๆ  เพิ่มมากขึ้นจากภาวะปกติ  เนื่องจากทารกในครรภ์ต้องนำเกลือแร่ต่าง ๆ ไปใช้ในการสร้างโครงสร้างหลักของร่างกาย  เช่น  กระดูกและฟัน  เป็นต้น  เกลือแร่ที่สำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับมากกว่าปกติ  ได้แก่  แคลเซียม  ฟอสฟอรัส  แมกนีเซียม  เหล็ก  ไอโอดีน  และสังกะสี  เป็นต้น

  1. แคลเซียม
  •  แคลเซียมเป็นเกลือแร่ที่คุณแม่จำเป็นจำเป็นต้องใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน  การควบคุมการเต้นของหัวใจ  การแข็งตัวของเลือด  การหดตัวของกล้ามเนื้อ  และการรับส่งของกระแสประสาท  นอกจากนี้ยังพบว่าแคลเซียมช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง  ช่วยในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์
  • หญิงตั้งครรภ์มีต้องการแคลเซียมมากกว่าหญิงปกติ  1  เท่าตัว
  • ปริมาณแคลเซียมจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยการดูดซึมในลำไส้เพิ่มขึ้นเป็น  2  เท่าในช่วงการตั้งครรภ์ระยะแรกและสะสมไว้ในกระดูกแม่  พอถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายทารกจะมีการสร้างกระดูกมากขึ้น  โดยดึงแคลเซียมจากเลือดของมารดามาใช้ประมาณวันละ  300  มิลลิกรัม 
  • ความต้องการแคลเซียมสัมพันธ์กับฟอสฟอรัส  โดยจำเป็นต้องมีสัดส่วนของแคลเซียมต่อฟอสฟอรัสเท่ากับ  1 : 1  เสมอ  ร่างกายจึงจะดูดซึมแคลเซียมได้ 
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า  19  ปี  ควรได้รับแคลเซียม  800  มิลลิกรัมต่อวัน 
  • อาหารที่มีแคลเซียม  ได้แก่  น้ำนม  เนย  ปลาเล็กปลาน้อย  กุ้งแห้ง  และผักใบเขียวต่าง ๆ เช่น  ผักคะน้า  ผักกวางตุ้ง  ผักโขม  ผักกาด  และกะหล่ำปลี  เป็นต้น

  1. ฟอสฟอรัส  
  • ฟอสฟอรัสช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง  และช่วยสร้างเซลล์อื่น ๆ เนื่องจากฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกรดนิวคลีอิก  ที่มีความสำคัญต่อการถ่ายทอดพันธุกรรมและควบคุมกระบวนการเมแทบอลิซึมของเซลล์ 
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมากกว่า  19  ปี  ควรได้รับฟอสฟอรัส  700  มิลลิกรัมต่อวัน 
  • อาหารที่มีฟอสฟอรัสมาก  ได้แก่  ปลา  นม  ไข่  เนย  และผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ

  1. เหล็ก 
  • เหล็กเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นมากสำหรับภาวะตั้งครรภ์  เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง  และเป็นองค์ประกอบของฮีโมโกลบินที่ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจน 
  • การได้รับเหล็กในปริมาณไม่เพียงพอทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง  ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์และในระหว่างคลอดได้ง่าย  เนื่องจากมารดาที่เป็นโรคโลหิตจางจะทนต่อการสูญเสียเลือดในระหว่างการคลอดได้น้อย  ทำให้เป็นอันตรายแก่มารดาและทารกได้  รวมทั้งเกิดความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อหลังคลอดได้ 
  • คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย  พ.ศ. 2546  แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับยาเม็ดธาตุเหล็กเสริมวันละ  60  มิลลิกรัมเสริมจากการได้รับธาตุเหล็กจากอาหาร เนื่องจากระยะตั้งครรภ์จะมีการถ่ายเทเหล็กจากมารดาไปสู่ทารกโดยเฉพาะในไตรมาสที่  3  ประมาณวันละ  3-4  มิลลิกรัม  และหญิงตั้งครรภ์จะสูญเสียเหล็กในระหว่างคลอดประมาณ  150  มิลลิกรัม
  • อาหารที่มีธาตุเหล็กมาก  เช่น  เครื่องในสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะตับ  ไต  ม้าม  ไข่แดง ผักใบเขียวต่างๆ ซึ่งควรรับประทานอาหารร่วมกับวิตามินซีและโปรตีนเพื่อช่วยให้ร่างการดูดซึมธาตุเหล็กได้ดียิ่งขึ้น

  1. ไอโอดีน 
  • ไอโอดีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างฮอร์โมนไทรอกซินจากต่อมไทรอยด์  ซึ่งมีความสำคัญต่อการควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเพื่อใช้เป็นพลังงาน ในระยะตั้งครรภ์ที่ร่างกายต้องการพลังงานมากกว่าปกติ  ร่างกายจึงต้องการไอโอดีนเพิ่มมากขึ้น 
  • ฮอร์โมนไทรอกซินจึงมีความเกี่ยวข้องในการควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายและเซลล์สมอง  หากขาดฮอร์โมนนี้ในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้แท้งหรือเสียชีวิตในระหว่างคลอด  แต่ถ้ารอดชีวิตและเติบโตได้การพัฒนาทางสมองของเด็กลดลง  การพัฒนาการทางด้านร่างกายช้า  ถ้าขาดรุนแรงพัฒนาการด้านประสาทจะบกพร่องทารกที่คลอดมาจะมีลักษณะเป็นเด็กปัญญาอ่อน  หรือที่เรียกว่า โรคเอ๋อ” 
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับไอโอดีนเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  50  ไมโครกรัม  หรือควรได้รับวันละ  200  ไมโครกรัม
  • อาหารที่มีสารอาหารไอโอดีนสูง  ได้แก่  อาหารทะเล  เช่น  ปลา  ปู  กุ้ง  และหอยทะเล  นอกจากนี้อาจได้จากการกินเกลือผสมไอโอดีน  หรือที่เรียกว่า  เกลืออนามัย  หรือผลิตภัณฑ์ที่เสริมเกลือไอโอดีน  เป็นต้น 

  1. สังกะสี 
  • สังกะสีมีความสำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์โปรตีน  และการแสดงออกของหน่วยพันธุกรรมในทุกระบบของสิ่งมีชีวิต  นอกจากนี้สังกะสียังมีความสำคัญต่อกระบวนการเมแทบอลิซึมของกรดนิวคลีนิก  และโปรตีน  ช่วยในการเจริญเติบโต  และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น  ทำให้ร่างกายนำวิตามินเอที่สะสมในตับมาใช้ให้ภูมิคุ้มกันโรค  และยังทำให้อวัยวะเพศและกระดูมีการพัฒนาตามปกติ 
  • ภาวะขาดสังกะสีก่อให้เกิดความผิดปกติของการเจริญเติบโต  ระบบภูมิคุ้มกันการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์  และระบบประสาทที่ควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับสังกะสีเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  2  มิลลิกรัม  หรือควรได้รับวันละ  มิลลิกรัม
  • อาหารที่มีสารอาหารสังกะสีสูง  ได้แก่  หอยนางรม  จมูก  ข้าว  ปู  กุ้ง  เนื้อสัตว์  ตับ  เห็ด  อาหารที่มีโปรตีนสูงมักมีสังกะสีเป็นส่วนประกอบ

  1. แมกนีเซียม  
  • แมกนีเซียมมีบทบาทสำคัญต่อร่างกายโดยเป็นโคแฟกเตอร์ของเอนไซม์จำนวนมาก  มีบทบาทในการควบคุมอุณหภูมิ  การยืดหดของกล้ามเนื้อ  การสังเคราะห์โปรตีน 
  • ถ้าปริมาณแมกนีเซียมในเลือดน้อยจะมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น  โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคความดันโลหิตสูง  และโรคกระดูกพรุน  เป็นต้น
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับแมกนีเซียม  เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  30  มิลลิกรัม  หรือควรได้รับวันละ  280  มิลลิกรัม 
  • อาหารที่มีสารอาหารแมกนีเซียมสูง  ได้แก่  ผักใบเขียว  ผลไม้  ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง นม  เป็นต้น
ความต้องการเกลือแร่ของหญิงตั้งครรภ์เปรียบเทียบกับหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
ชนิดของเกลือแร่
ความต้องการต่อวัน
หญิงตั้งครรภ์
หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์
แคลเซียม (มิลลิกรัม)
ฟอสฟอรัส  (มิลลิกรัม)
แมกนีเซียม  (มิลลิกรัม)
เหล็ก  (มิลลิกรัม)
สังกะสี  (มิลลิกรัม)
ไอโอดีน  (ไมโครกรัม)
800
700
280
ยาเสริม  60  มิลลิกรัม
9
200
800
700
250
24.7
7
150
ที่มา  :  สำนักโภชนาการ, 2550
ความต้องการวิตามิน
วิตามินเป็นสารอาหารที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารของร่างกาย  ในวันหนึ่ง ๆ ร่างกายต้องการปริมาณเล็กน้อย  แต่การขาดอาจส่งผลให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับวิตามิน  และส่งผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ได้โดยตรง  วิตามินที่สำคัญที่หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับ  ได้แก่
  1. วิตามินเอ 
  • เป็นวิตามินที่ช่วยในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์  ช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน  ส่งเสริมสุขภาพของผิวหนังและพัฒนาการของเซลล์เยื่อบุผิว  ช่วยบำรุงสุขภาพของตาและการมองเห็นของหญิงตั้งครรภ์  บำรุงผิวหนังและเพิ่มความต้านทานโรค  รวมทั้งการเพิ่มภูมิต้านทานซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเกิดมะเร็งด้วย
  • แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับวิตามินเอ  เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  200  ไมโครกรัม  หรือควรได้รับวันละ  800  ไมโครกรัม
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินเอ  ได้แก่  ไข่แดง  ตับ  และผักที่มีสารแคโรทีน  ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้  ประกอบด้วย  ผักใบเขียว  และผลไม้ที่มีสีเหลืองเข้ม  เช่น  ผักตำลึง  ผักคะน้า  ผักหวาน  แครอท  ฟักทอง  มะละกอสุก  เป็นต้น

  1. วิตามินดี 
  • หญิงตั้งครรภ์ต้องการวิตามินดีเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยในการสร้างกระดูกของทารกในครรภ์ วิตามินดีมีความสำคัญต่อการควบคุมเมแทบอลิซึมของแคลเซียมและกระดูก  ช่วยให้การดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ทางเดินอาหาร  และการทำงานของเซลล์กระดูกเป็นปกติ  ซึ่งเป็นผลให้ระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือด  ปริมาณมวลกระดูก  รวมทั้งโครงสร้างและความแข็งแรงของกระดูกอยู่ในเกณฑ์ปกติ 
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินดีวันละ  5  ไมโครกรัม ซึ่งคนไทยที่มีสุขภาพแข็งแรงดีซึ่งได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอ ผิวหนังสามารถสังเคราะห์วิตามินดีสะสมในร่างกายในปริมาณที่เพียงพอตลอดปี
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินดี  ได้แก่  น้ำมันตับปลา เนื้อปลาที่มีไขมัน ตับ นม และไข่แดง  เป็นต้น

  1. วิตามินอี  หรือโทโคเฟอรอล (tocopherol) 
  • วิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันชนิดที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์และสัตว์ ความสำคัญต่อการผลิตพลังงานในร่างกาย  โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ  ช่วยให้กล้ามเนื้อและประสาทที่เกี่ยวข้องทำงานได้ในภาวะที่มีออกซิเจนน้อย  เพิ่มความทนทานและช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้สะดวกขึ้น 
  • วิตามินอีพบได้ในผนังเซลล์ทุกชนิดและในหยดไขมัน  มีบทบาทในการต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดขึ้นกับสารต่าง ๆ ที่อยู่ในร่างกาย  เช่น  บนผนังเซลล์เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำลาย 
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินอีวันละ 15 ไมโครกรัม 
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินอี ได้แก่ น้ำมันพืชต่าง ๆ เมล็ดพืชต่าง ๆ เช่น เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดแตงโม  อัลมอนด์ ถั่วเหลือง รวมทั้งจมูกข้าวสาลี ตลอดจนตับ หัวใจ และไข่แดง

  1. วิตามินบีหนึ่ง 
  • วิตามินบี 1 เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์  ที่ใช้ในกระบวนการย่อยคาร์โบไฮเดรต  ถ้ามีวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอคาร์โบไฮเดรตจะไม่ถูกย่อย  ดังนั้นถ้าใช้พลังงานมากหรือกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมาก  ควรได้รับวิตามินบีหนึ่งเพิ่มขึ้นด้วย 
  • การขาดวิตามินบี 1 ส่งผลให้เกิดโรคเหน็บชา  ซึ่งอาจพบในหญิงตั้งครรภ์ที่เกิดการแพ้ท้องมากจนไม่สามารถบริโภคอาหารได้  ประกอบกับต้องใช้พลังงานมาก  ทำให้เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า  ถ้าไม่รักษาอาจเกิดการแท้งบุตรได้
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบีหนึ่ง  เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ  0.4  มิลลิกรัม  หรือควรได้รับวันละ  1.4  มิลลิกรัม
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบีหนึ่ง  ได้แก่  จมูกข้าว  ยีสต์  พืชตระกูลถั่ว  เนื้อหมู  ไข่  และเครื่องในสัตว์โดยเฉพาะตับ  เป็นต้น

  1. วิตามินบีสอง
  • วิตามินบี 2 เป็นส่วนประกอบของโคเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ช่วยบำรุงผิวหนัง ช่วยป้องกันโรคไมเกรน ช่วยขจัดอนุมูลอิสระ
  • การขาดวิตามินบี 2 มีผลทำให้ผิวหนังแตกเป็นขุย และแดงอักเสบ บำรุงนัยน์ตา ลดอาการตาไม่กล้าสู้แสง ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก หรือรอยแผลแตกที่มุมปาก นอกจากนี้การขาดวิตามินบี 2 จะเกี่ยวข้องกับโรคขาดโปรตีนและพลังงาน
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบีสอง เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 0.3 มิลลิกรัม หรือควรได้รับวันละ 1.4 มิลลิกรัม
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบีสอง ได้แก่ ตับ และผักใบเขียว

  1. โฟเลต
  • โฟเลตเป็นสารอาหารที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบีชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ในปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับกรดนิวคลีอิกและกรดแอมิโน
  • โฟเลตเป็นวิตามินที่มีความสำคัญมากต่อหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากทารกในครรภ์อย่างรวดเร็วทั้งร่างกายและสมอง โฟเลตช่วยในการสร้างและพัฒนาเม็ดเลือดแดง ช่วยการสังเคราะห์สารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอจำเป็นสำหรับการแบ่งเซลล์และการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่าง ๆ และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดประสาทของทารกในครรภ์เปิด หรือ neural defects : NTDs
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับโฟเลต เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 200 ไมโครกรัม หรือควรได้รับวันละ 600 ไมโครกรัม เมื่อร่างกายได้รับโฟเลตไม่เพียงพอจะทำให้เกิดอาการโลหิตจาง
  • อาหารที่เป็นแหล่งของโฟเลต ได้แก่ ตับ ผักใบเขียว ผลไม้สด ถั่วเมล็ดแห้ง เมล็ดดอกทานตะวัน และจมูกข้าว เป็นต้น

  1. วิตามินบีสิบสอง 
  • วิตามินบี 12 จำเป็นสำหรับการทำงานของเซลล์ในไขกระดูก ระบบประสาทและระบบทางเดินอาหาร ทำให้เม็ดเลือดแดงมีอายุตามปกติ ใช้รักษาระบบเลือดผิดปกติ และอาการทางประสาทของคนไข้ที่เป็นโรคโลหิตจางเป็นพิษชนิดเพอร์นิเซียส (pernicious anemia)
  • วิตามินบี 12 ทำงานร่วมกับโฟเลต เหล็ก ในการผลิตเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบี 12 เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 0.2 ไมโครกรัม หรือควรได้รับวันละ 2.6 ไมโครกรัม
  • อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินบีสิบสอง ได้แก่ ตับ ไต หัวใจ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เป็นต้น

  1. วิตามินซี
  • วิตามินซีมีความสำคัญต่อการสังเคราะห์คอลลาเจน คาร์นิทีน สารเหนี่ยวนำกระแสประสาท (neurotransmitter) และเมแทบอลิซึมของกรดแอมิโนและคาร์โบไฮเดรต เพิ่มภูมิต้านทานและช่วยในการดูดซึมเหล็ก ยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน (nitrosamine) มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของลิพิด (lipid peroxidation)
  • ถ้ามีการขาดวิตามินซีอย่างรุนแรงจะเกิดโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) และมีผลต่อการสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินซี เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกวันละ 10 มิลลิกรัม หรือควรได้รับวันละ 85 มิลลิกรัม
  • วิตามินซีพบมากในผลไม้ เช่น เชอรี่ ฝรั่ง ส้ม มะนาว และผัก เช่น คะน้า สะเดา ผักหวานเป็นต้น
ที่มา : ดัดแปลงจากพัทธนันท์, 2555 และฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช, 2556

อาหารคนท้อง 7 อย่างที่ควรกินตอนตั้งครรภ์

อาหารคนท้อง  7 อย่าง ที่ควรกินตอนตั้งครรภ์ ช่วงเวลาตั้งครรภ์แม่ท้องจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าคนทั่วไป ทำให้อ่อนแอง่าย ป่วยง่าย นอกจาก...